ใกล้จะถึงตรุษจีนแล้ว วันนี้ทีมงาน เลขเด็ดสยาม ก็มีวิธีจัดโต๊ะ ไหว้ตรุษจีน 2564 มาฝากทุกคนกันค่ะ ต้องจัดโต๊ะอย่างไร มีของไว้อะไรบ้าง จุดธูปกี่ดอก และ ไหว้อย่างไรให้ประหยัดในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย วันนี้เรามีคำตอบให้ทุกท่านกันค่ะ จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่า

ไหว้ตรุษจีน 2564 ไหว้อย่างไรให้ถูกวิธี

ไหว้ตรุษจีน 2564

วันตรุษจีน คือวันอะไร

วันตรุษจีน คือ วันขึ้นปีใหม่ของคนจีน ที่ชาวจีนและคนเชื้อสายจีนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และมีประวัติมายาวนานหลายพันปี และมีชื่อเรียกต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น “ซุ่ย” (2,100 ปีก่อนคริสตศักราช) หมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ และ “เหนียน” (1,000 กว่าปีก่อนคริสตศักราช) หมายถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตอันอุดมสมบูรณ์ได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ เดิมยังถือเป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้น วันตรุษจีน จึงเคยมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าวันชุงเจ๋ แปลว่าเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนจะได้เริ่มเพาะปลูกพืชพรรณธัญญาหารอีกครั้ง หลังผ่านฤดูหนาวอันยาวนานมาแล้วนั่นเอง

กำหนดการ วันตรุษจีน จะตรงกับวันที่ในปฏิทินจีนคือ วันที่ 30 เดือน 12 ตามปฏิทินจีน ถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจีน เป็นวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ หรือ วันตรุษจีน ซึ่งในการไหว้ตรุษจีนและการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้น จะแบ่งได้เป็น 3 วันหลักๆ คือ

วันเฉลิมฉลองตรุษจีน 2564

  • วันจ่ายตรุษจีน – เป็นวันที่คนจะออกไปจับจ่ายซื้อของไหว้ตรุษจีน เช่น อาหารสด อาหารแห้ง ผลไม้ ก่อนที่ร้านค้าจะหยุดตรุษจีนกัน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพุธ ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564
  • วันไหว้ตรุษจีน – เป็นวันที่คนจะไหว้เทพเจ้าเพื่อขอพรให้ชีวิตรุ่งเรือง รวมถึงไหว้บรรพบุรุษผู้มีพระคุณเพื่อแสดงถึงความกตัญญู ปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564
  • วันเที่ยวตรุษจีน เป็นวันที่ผู้คนจะแต่งกายสวยงามด้วยสีสันสดใส เช่น สีแดง แล้วออกไปขอพรญาติผู้ใหญ่ อวยพรด้วยคำพูดดีๆ และพากันออกเที่ยว ในวันนี้ผู้คนจะหยุดทำงาน และงดทำสิ่งอัปมงคลทุกชนิด โดยปีนี้ตรงกับวันศุกร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564

ไหว้ตรุษจีน 2564

วิธีไหว้ และของไหว้ มีอะไรบ้าง

อาหารไหว้เจ้าและของไหว้ในวันตรุษจีน จะเน้นของที่มีความหมายดี เป็นมงคล และสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์พูนผล เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต โดยจะหากไหว้เต็มรูปแบบก็จะมี 4 แบบด้วยกันคือ สำหรับไหว้เจ้าที่ สำหรับไหว้บรรพบุรุษ สำหรับไหว้ทำทานสัมภเวสี (ดวงวิญญาณไร้ญาติ) และหากใครต้องการไหว้ขอโชคลาภเพิ่มเติม ก็จะมี ของไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย เพิ่มเติมด้วย

ของไหว้จะประกอบไปด้วย ของคาว ขนมหรือของหวานอื่นๆ และผลไม้ โดยจำนวนจะยึดที่ของคาวหรือเนื้อสัตว์เป็นหลักคือ

  • ไหว้ 3 อย่าง (ซาแซ) ประกอบด้วย หมูส่วนสะโพกติดหนัง (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด(พร้อมเครื่องใน) ไก่(พร้อมเครื่องใน)
  • ไหว้ 5 อย่าง (โหงวแซ) ประกอบด้วย หมู (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด(พร้อมเครื่องใน) ไก่(พร้อมเครื่องใน) ปลาทั้งตัว หรืออาหารทะเล (เช่น ปลาหมึกแห้งทั้งตัวไม่ต้องต้ม กุ้งต้มสุก ปูต้มสุก หรือหอยลวกสุก) หรือ ตับ

แล้วไหว้ของหวานกับผลไม้ด้วยจำนวนเท่ากันเป็นอย่างน้อย เช่น หากไหว้ของคาว 3 อย่าง ก็จะมีของหวาน 3 อย่าง และผลไม้ 3 อย่าง ไม่น้อยไปกว่านี้ แต่หากมีกำลังทรัพย์ก็สามารถไหว้มากกว่านี้ได้ค่ะ

ไหว้ตรุษจีน 2564

ไหว้ตรุษจีนต้องใช้ธูปกี่ดอก

-ไหว้เจ้าที่ ช่วงเช้า 06.00-07.00 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564

เตรียมของไหว้เจ้าที่ ดังนี้

  1. ไหว้ 3 อย่าง (ชุดซาแซ) หรือ ไหว้ 5 อย่าง (ชุดโหงวแซ)
  2. ขนมไหว้ ได้แก่ ฮวกก้วย (ขนมถ้วยฟู) คักท้อก้วย (ขนมกู๋ช่าย) สื่อถึงความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรือง
  3. ขนมจันอับ หรือขนมจับกิ้ม หรือแต้เหลี้ยว สื่อถึงธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และซาลาเปาสีชมพู แต้มจุดสีแดง หมายถึง ห่อโชค
  4. ขนมไหว้พิเศษ ได้แก่ ขนมเข่ง หมายถึงมีเพื่อนมาก ขนมเทียน หมายถึงสว่างสดใส รุ่งเรือง
  5. ผลไม้มงคล เช่น  ส้ม กล้วยทั้งหวี(เลือกแบบสีเขียวที่ยังดิบอยู่) องุ่น แอปเปิ้ล ชมพู่ สาลี่ เป็นต้น
  6. เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำชา 5 ที่ อาจมีเหล้าด้วยอีก 5 ที่
  7. กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดไหว้เจ้า (หงิ่งเตี๋ย) 5 ชุด
  8. เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
  9. กระถางธูป
  10. ธูปสำหรับไหว้ 
  11. แจกันดอกไม้

การไหว้และการจัดของไหว้

  1. น้ำชา 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
  2. ชุดไหว้ของคาว วางด้านขวามือของผู้ไหว้
  3. ชุดไหว้ผลไม้ วางด้านซ้ายมือของผู้ไหว้
  4. ชุดขนมและของหวาน วางต่อด้านหลังจากชุดผลไม้
  5. ส่วนกระดาษเงินกระดาษทองให้ใช้ถาดชุดขนมวางทับไว้
  6. ธูปเทียนปักตามปกติ ใช้เทียน 1 คู่ เจ้าที่ตี่จู่เอี๊ยใช้ธูป 5 ดอก เจ้าที่อื่นๆ ใช้ธูป 3 ดอก เจ้าที่หรือเทพเจ้าประตู (หมึ่งซิ้ง) ใช้ธูป 2 ดอก โดยปักจุดละ 1 ดอก เริ่มปักฝั่งซ้ายก่อน แล้วค่อยปักฝั่งขวา เพื่อบอกกล่าวขออนุญาตให้ท่านเปิดทางให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษของเราเข้ามารับของไหว้ได้ในวันตรุษจีน

-ไหว้บรรพบุรุษ ช่วงสาย ไม่เกินเที่ยง วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564

ของไหว้บรรพบุรุษ

  1. ไหว้ 3 อย่าง หรือ ไหว้ 5 อย่าง
  2. ขนมไหว้ ได้แก่ ฮวกก้วย (ขนมถ้วยฟู) คักท้อก้วย (ขนมกู๋ช่าย) สื่อถึงความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรือง
  3. ขนมจันอับ หรือขนมจับกิ้ม หรือแต้เหลี้ยว สื่อถึงธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และซาลาเปาสีชมพู แต้มจุดสีแดง หมายถึง ห่อโชค
  4. ขนมไหว้พิเศษ ได้แก่ ขนมเข่ง หมายถึงมีเพื่อนมาก ขนมเทียน หมายถึงสว่างสดใส รุ่งเรือง
  5. ผลไม้มงคล เช่น  ส้ม กล้วยทั้งหวี(เลือกแบบสีเขียวที่ยังดิบอยู่) องุ่น แอปเปิ้ล ชมพู่ สาลี่ เป็นต้น
  6. กับข้าว 5 อย่าง
  7. ข้าวสวยตักใส่ถ้วยพูนๆ พร้อมตะเกียบ ตามจำนวนบรรพบุรุษ
  8. เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำชา 5 ที่ อาจมีเหล้าด้วยอีก 5 ที่
  9. กระดาษเงิน กระดาษทอง จะต้องมีอ่วงแซจิ่วสำหรับเป็นใบเบิกทางบรรพบุรษให้ลงมารับของไหว้
  10. ทองแท่งสำเร็จรูป แบงค์กงเต็ก ค้อซี/ก๊อซี ฯลฯ ปริมาณตามสะดวก
  11. เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
  12. กระถางธูป
  13. ธูปสำหรับไหว้
  14. แจกันดอกไม้

การไหว้และการจัดของไหว้

  1. น้ำชา 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
  2. ชุดไหว้ของคาว วางด้านขวามือของผู้ไหว้
  3. ข้าวสวย ตั้งเรียงแถวหน้ากระดาน พร้อมด้วยตะเกียบ โดยให้ด้ามตะเกียบหันไปที่รูปของบรรพบุรุษ
  4. กับข้าว 5 อย่าง ตั้งเรียงแถวหน้ากระดาน
  5. ผลไม้และขนมวางอยู่ในแถวเดียวกัน
  6. จากนั้นจึงจะเป็นเครื่องกระดาษต่างๆ ที่ต้องการจะส่งให้บรรพบุรุษ
  7. จุดธูปเทียนตามปกติ ใช้เทียน 1 คู่ ธูปคนละ 3 ดอก โดยให้ผู้อาวุโสที่สุดเป็นผู้จุดก่อน

-ไหว้สัมภเวสี ช่วงบ่าย 14.00-16.00 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564

ของไหว้ทำทานให้สัมภเวสี 

  1. จัดเตรียมคล้ายของไหว้บรรพบุรุษตามกำลังทรัพย์ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องมีแค่ไหน
  2. ควรเปลี่ยนจากน้ำชาเป็นน้ำเปล่าแบบขวด และเหล้าใช้แบบขวดเช่นกัน
  3. กระดาษเงินกระดาษทอง ตามกำลังทรัพย์
  4. เกลือและข้าวสารเตรียมแยกไว้สำหรับสาดบริเวณบ้านหลังไหว้เสร็จ
  5. ประทัดสำหรับจุดหลังไหว้เสร็จ
  6. เสื่อสำหรับปูรองของไหว้ที่พื้น

การไหว้และการจัดของไหว้

  1. จัดเตรียมข้าว ขนม น้ำเปล่า (แบบขวด) เหล้า (แบบขวด) กระดาษเงิน กระดาษทอง โดยวางบนเสื่อปูที่พื้นด้านนอกตัวบ้าน และหันออกนอกตัวบ้าน
  2. จุดธูป 1 ดอก เวลาไหว้ให้ยืนไหว้ไม่ต้องคุกเข่า
  3. เมื่อไหว้เสร็จและเก็บของแล้ว ให้สาดเกลือเม็ดกับข้าวสารไปทั่วบริเวณ และจุดประทัด เพื่อไม่ให้มีอะไรตกค้างในบ้าน และเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่เป็นมงคลต่างๆ

ไหว้ตรุษจีน 2564

ไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ช่วงดึก คืนวันตรุษจีน

สำหรับปี 2564 ฤกษ์ไหว้จะตรงกับเวลา 23.00 น. คืนวันที่ 11 ก.พ. ถึง 05.00 น. วันที่ 12 ก.พ. หรือเริ่มไหว้เวลา 23:01 น. ของวันพฤหัสที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

ของไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) 

  1. รูปหรือรูปปั้นเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยสำหรับกราบไหว้
  2. แจกันดอกไม้สด 1 คู่
  3. เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
  4. กระถางธูป
  5. ธูปสำหรับไหว้
  6. น้ำชา 5 ถ้วย
  7. ขนมอี๊(สาคูสีแดง) 5 ถ้วย หรือข้าวสวย 5 ถ้วย
  8. ขนมจันอับ หรือขนมจับกิ้ม หรือแต้เหลี้ยว
  9. ผลไม้มงคล 5 อย่าง เช่น ส้ม แอปเปิ้ลแดง องุ่นแดง กล้วยหอมทอง สับปะรด ฯลฯ
  10. เจไฉ่ หรือของเจ 5 อย่าง เช่น ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ วุ้นเส้น เห็ดหอม เห็ดหูหนู
  11. ชุดกระดาษไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ย ประกอบด้วย  หงิ่งเตี๋ย 12 ชุด กิมหงิ่งเต้า 1 คู่ เทียงเถ้าจี๊ 1 ชุด เทียบเชิญแดง 1 แผ่น กระดาษสีเขียว 1 แผ่น (เทียบเชิญสีเขียว)

*สำหรับของไหว้สามารถเตรียมได้ตามกำลังทรัพย์ ครบหรือไม่ก็ไม่เป็นไรขอให้มีความศรัทธาเป็นที่ตั้ง แต่ที่สำคัญมากคือ “เทียบเชิญสีแดง” และ “เทียบเชิญสีเขียว”  เพราะเราต้องเขียนชื่อและที่อยู่ของเราลงไป รวมถึงเขียนเชิญ องค์ไท้ส่วย ด้วยค่ะ*

การไหว้และการจัดของไหว้

  1. น้ำชา 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
  2. สาคูแดงหรือบัวลอยแดง 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
  3. ถาดผลไม้ 5 อย่างวางเรียงหน้ากระดาน
  4. ชุดกระดาษไหว้เทพเจ้าโชคลาภ
  5. แจกันดอกไม้ กระถางธูป เชิงเทียน
  6. หากต้องการไหว้เรียกทรัพย์เป็นเคล็ดเพิ่มเติม ให้เตรียมกระเป๋าสตางค์ใบใหม่ หรือสมุดบัญชีเงินฝาก เหรียญ ธนบัตร สำหรับเก็บไว้เป็นเงินขวัญถุง

วิธีไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย

  1. ให้ผู้ไหว้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เนื่องจากปี 2564 นี้ท่านเสด็จทางทิศตะวันออก
  2. จุดธูป 3 ดอก 5 ดอก 9 ดอก หรือ 12 ดอกก็ได้ แล้วกล่าวคำสวดบูชาดังนี้ “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ” (3 จบ) จากนั้นสวดบทสักการะว่า “โอม ชัมภาลา จาเลนไน เยโซฮา” (สวด 3 จบ 5 จบ 9 จบ หรือ 12 จบก็ได้)
  3. จากนั้นให้กล่าวชื่อและนามสกุลของตัวเอง และเรื่องที่จะขอพร (ไม่ควรขอหลายอย่างจนเกินไป ให้แน่วแน่ขอพรในสิ่งที่อยากได้จริงๆ เป็นหลัก) โดยถือกระเป๋าสตางค์เอาไว้ด้วย เพื่อเป็นเคล็ดในการเรียกเงินทองและโชคลาภมาสู่กระเป๋า
  4. จากนั้นนำกระดาษเงินกระดาษทองไปเผา แล้วให้ผู้ใหญ่ผู้อาวุโสในบ้านถือรูปภาพหรือรูปปั้นไฉ่ซิงเอี๊ยพร้อมกระถางธูปเข้าบ้าน เป็นการเชิญเทพเข้าบ้าน
  5. ของไหว้ถือเป็นของมงคลให้นำไปแบ่งกันรับประทานในครอบครัว ห้ามนำไปทิ้ง

ข้อห้ามในการไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยช่วงวันตรุษจีน

  • ไม่ควรให้ผู้ที่เกิดปีชง คือ ปีมะแม ไหว้เป็นคนแรก ควรให้ผู้ที่ไม่ได้เกิดปีชงไหว้ก่อน
  • หากคนในบ้านมีแต่คนเกิดปีชง ให้ถือฤกษ์ไหว้  03.00 – 05.00 น. ของวันที่ 12 กุมภาพันธ์แทน

 

สรุป

และนี่ก็เป็นวิธีการไหว้ และการจัดของไว้ในวันตรุษจีนที่เรานำมาฝากกันนะคะ ทั้งนี้ทั้งนั้น หากไม่สะดวกเรื่องทุนทรัพย์ก็สามารถไหว้เฉพาะที่ได้เช่นกันค่ะ หรือหากไม่สะดวกจริงๆ ก็สามารถมุ่งเน้นไปที่การทำความดี รักษาศีน การมีจิตใจที่บริสุทธิ์ก็ได้นะคะ สิง่เหล่านี้ก็จะช่วยให้เกิดความเป็นสิริมงคล และเสริมดวงเราได้เหมือนกันค่ะ สุดท้ายนี้ของให้ทุกท่านโชคดี มีความสุข อั่งเป๋าตั่วๆไก้ ในวันตรุษจีนนี้นะคะ สวัสดีปีใหม่ค่า

 

ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับหวย เลขเด็ดต่างๆก่อนใคร คลิ๊ก!!